29 ต.ค. 2553

ชะตากรรม‘คนลุ่มน้ำปากพนัง’ในอุ้งมือโครงการยักษ์

1. ชะตากรรม‘คนลุ่มน้ำปากพนัง’ในอุ้งมือโครงการยักษ์

แผนงานข่าวสืบสวนเชิงลึกนโยบายสาธารณะ

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า วันนี้ผู้คนในแถบถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง ต่างสิ้นเนื้อประดาตัวจากการทำเกษตรขนาดใหญ่ ลงทุนสูง ด้วยหวังกำไรชนิดเป็นกอบเป็นกำ อย่างเช่นนากุ้ง

อันส่งผลให้บัดนี้ ที่ดินปริมาณมากมายมหาศาลถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างสุดลูกหูลูกตา ด้วยหมดสภาพจะนำกลับมาใช้ทำเกษตร ด้วยสาเหตุดินเค็ม เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและทุ่งนาระโนด ก็นับได้หลายแสนไร่ ปล่อยให้เจ้าของเดิมหนี้สินท่วมหัวมาจนถึงวันนี้

คำบอกเล่าของ “นางวรนาถ หมาดทอง” สตรีวัย 32 ปี ดูจะสะท้อนภาพนี้ได้ดี

“ในช่วงที่การทำนากุ้งเฟื่องฟู ชาวแหลมตะลุมพุกเอง ก็กู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำนากุ้งกันมาก ทุกวันนี้แต่ละคนต้องแบกรับภาระหนี้สินคนละมากๆ จากการล่มของนากุ้ง”

ทว่า จะมีใครสักกี่คนทราบว่า สาเหตุที่มาของการสิ้นเนื้อประดาตัวของผู้คนส่วนใหญ่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง นอกจากนากุ้งที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้แล้ว จะมาจากโครงการพัฒนาของรัฐ ที่เข้าไปทำลายระบบนิเวศชนิดยับเยินยิ่งรวมอยู่ด้วย

ไม่เว้นกระทั่งโครงการดีๆ ที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี และทุกฝ่ายพยายามเข้าไปดูแลใกล้ชิดอย่าง “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โครงการพัฒนาที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 1.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 26.64 ของพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร

ส่งผลกระทบต่อผู้คนครอบคลุมอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอจุฬาภรณ์

มีแม่น้ำสายหลัก และลำคลองสาขากว่า 119 สาย จากเทือกเขาบรรทัดไหลผ่าน จากอำเภอชะอวด เข้าอำเภอหัวไทร ลงสู่ทะเลที่อำเภอปากพนัง

ตอนกลางจะเป็นพื้นที่ลุ่มสูงกว่าระดับน้ำทะเล 5 – 10 เมตร ตอนปลายเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่ง เป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลเคยท่วมถึง ในฤดูแล้งน้ำทะเลจะหนุนขึ้นสูงไปผสมกับน้ำจืดถึงเขตอำเภอชะอวด กลายเป็นน้ำกร่อย ทำให้สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีระบบนิเวศ 4 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำเปรี้ยวล้นออกมาจากจากพรุควนเคร็ง

ระบบ 4 น้ำ ก่อให้เกิดความหลากหลายของสภาพนิเวศและอาชีพของชุมชน อาทิ ป่าจาก ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าสาคู และป่าดิบชื้นหรือป่าต้นน้ำ ทำให้ลุ่มน้ำปากพนังมีความหลากหลายมาแต่อดีต

เมื่อนำไปบวกกับเป็นเมืองปากแม่น้ำ “ลุ่มน้ำปากพนัง” จึงกลายเป็นประตูการค้า ที่เคยมีข้าวเป็นสินค้าหลัก อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับพื้นที่นี้ในอดีต

ทว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา การทำนากุ้งขยายตัวเข้าครอบครองพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังแทนนาข้าว ส่งผลให้น้ำเค็มรุกพื้นที่นาข้าวขยายวงกว้าง

“โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแยกโซนน้ำจืดกับน้ำเค็มออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อให้อีกส่วนได้ทำนาข้าว ขณะที่อีกฝ่ายได้ทำนากุ้ง ด้วยการสร้างประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ” ซึ่งเปิดใช้งาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ขึ้นมาทำหน้าที่กั้นแม่น้ำปากพนัง ก่อนน้ำจืดจากเทือกเขาบรรทัดจะไหลลงสู่ทะเล

ส่งผลให้ระบบไหลเวียนของน้ำ ตามลำคลองสาขาต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ระบบนิเวศอันเป็นรากฐานของอาชีพต่างๆ ในเขตลุ่มน้ำ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ด้วยสาเหตุน้ำที่ถูกกั้นโดยประตูน้ำ ไม่สามารถไหลเวียนได้ น้ำอยู่ในสภาพนิ่งสนิท แปรสภาพกลายเป็นน้ำเน่า

ขณะน้ำเค็มที่นำมาเลี้ยงกุ้ง กลับมีค่าความเค็มสูงเกินไป เพราะไม่มีน้ำจืดลงมาผสม เส้นทางอพยพเพื่อวางไข่ของปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม ถูกตัดขาด พืชน้ำในแต่ละชนิดสูญหาย หรือไม่ออกผลผลิต เช่น ต้นจาก ซึ่งเป็นพืชน้ำกร่อย ไม่ออกรวง ไม่ออกน้ำ

แถมยังเกิดตะกอนทับถมขึ้นในลำคลองสูง อันเนื่องมาจากน้ำไม่ไหลเวียน ส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินขึ้นสูง เป็นเหตุให้น้ำท่วมขัง ดินไม่แห้งตามฤดูกาล ทำให้ดินทำนาเหนียวไถไม่ได้

ปลายปี 2545 มีการขุดลอกคลองหัวไทร โดยขุดลอกป่าจากริมสองฝั่งแม่น้ำหัวไทร และลำคลองสาขา ทำให้เกิดทั้งปัญหาสนิมน้ำจากการคายยางของรากต้นจาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำปากพนังทั้งระบบ แน่นอน นอกจากเกษตรกรจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินอาณาบริเวณลุ่มน้ำปากพนังได้ แล้ว ยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก รุนแรงถึงขั้นวันนี้พันธุ์สัตว์น้ำได้สูญหายไปจากลุ่มน้ำปากพนังแล้วกว่า 65 ชนิด มีผลกระทบกับชาวประมง ทั้งที่หากินอยู่ในลำคลองไปจนถึงชาวประมงชายฝั่งทะเลอย่างมหาศาล

อันสะท้อนภาพผ่านคำบอกเล่าของ “นายดะโหด หมัดล๊ะ” จากตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ผมทำนาข้าวมาก่อน เมื่อประมาณ 15 – 20 ปี มีการทำนากุ้งที่อำเภอหัวไทร ร่ำรวยกันมาก ผมเลยกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำนากุ้ง แต่วันนี้ไม่ได้ผล นาข้าวก็ทำไม่ได้เพราะดินเค็ม ทำเกษตรอย่างอื่นก็ไม่ได้ ถึงแม้ว่าภาครัฐจะแบ่งโซนน้ำจืดและน้ำเค็มให้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ สภาพที่เห็นก็คือ นาข้าวก็ร้าง นากุ้งก็ร้าง”

อันไม่แตกต่างจาก “นายนพคุณ หนูดาษ” จากตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล และ “นายสมนึก วราภรณ์” ชายวัย 60 ปี จากอำเภอหัวไทร ทั้ง 2 ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งมาเนิ่นนาน ที่มาถึงวันนี้กลับไม่มีปลาเหลือให้จับ

นี่คือ ชะตากรรมร่วมของชาวประมงทุกครอบครัวในลุ่มน้ำปากพนัง ที่กำลังประสบกับปัญหาจาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” อยู่ในขณะนี้

แน่นอน นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบจากการขุดคลองในโครงการฯ นี้ แล้วทำรอยื่นออกไปในทะเล ส่งผลให้น้ำเปลี่ยนทิศทาง กัดเซาะที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน จมหายกลายไปเป็นทะเล นับถึงวันนี้เกือบ 4,000 ไร่

อันนำมาสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

ทว่า ไม่มีเสียงตอบรับ และผู้รับผิดชอบโครงการฯ นี้

จนเมื่อชาวบ้านลุ่มน้ำปากพนัง ร้องเรียนต่อ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ด้วยการประสานงานของ “โครงการสิทธิชุมชนศึกษา” แนวทางการแก้ปัญหาก็ขยับขึ้นสู่โต๊ะการหารือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ก้าวแรกของการแก้ปัญหา ก็คือ การเข้ามาเป็นตัวกลางจัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดย “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 ณ ที่ทำการโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

อันตามมาด้วยข้อเสนอจากกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” ทุกสาขาอาชีพกว่า 200 คน ที่ต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้ามมามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ

ว่ากันตรงไปตรงมา ก็คือ ชาวบ้านขอเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ “เปิด” และ “ปิด” ประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ” โดยให้ทาง “คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ “กปร.” เป็นผู้ประสานงานในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้

จนวันที่ 28 มกราคม 2548 ข้อเสนอข้างต้น จึงคลอดออกมาในชื่อ “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ลงนามโดย “นายวิชม ทองสงค์” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

เป็นคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ชาวบ้านที่คิดว่าได้ประโยชน์จากโครงการฯ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน รวมทั้งสิ้น 64 คน

การประชุม คณะทำงาน “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ครั้งที่ 1 เปิดฉากขึ้น ณ ที่ทำการ “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในบ่ายอันอบอ้าวของวันที่ 7 มีนาคม 2548

บรรยากาศเริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลผลกระทบจาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” โดยเฉพาะจาการปิดประตูระบายน้ำ “อุทกภาชประสิทธิ์” โดยตัวแทนชาวบ้านในอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก็ถูกนำออกมาตีแผ่กลางวงประชุม

อันตามมาด้วยข้อเสนอ “ปิด – เปิด” ประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ์” ด้วยตัวเลข “เปิด” 7 เดือน “ปิด” 5 เดือน
แน่นอน ผลการประชุมที่ออกมาในวันนั้น ย่อมไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ อันนำมาสู่การนัดหมายประชุมหาข้อสรุปร่วมกันครั้งใหม่ ในวันที่ 27 เมษายน 2548

ทว่า เหตุการณ์ที่ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีการนำสื่อมวลชนจากกรุงเทพมหานครลงมาในพื้นที่ พร้อมกับนัดหมายประชุมชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ด้วยวิธีการเลือกเชิญเฉพาะกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานของ รัฐในการปรับเปลี่ยนอาชีพ และอื่นๆ โดยฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบ แม้จะอยู่ใน “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ก็ไม่ได้รับเชิญ

แล้วความก็แตก เมื่อชาวบ้านที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ส่งข่าวให้ “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในส่วนของตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทราบ

การประชุม ในวันที่ 19 เมษายน 2548 กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่อยู่ใน “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” และไม่อยู่ในคณะทำงานฯ ชุดนี้ จึงบุกเข้าไปนำเสนอข้อมูลผลกระทบต่อที่ประชุม

สถานการณ์พลิกกลับ เพราะเป็นการเสนอข้อมูลผลกระทบต่อหน้าสื่อมวลชนจากเมืองหลวง โดยมี “เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” และ “อธิบดีกรมชลประทาน” ร่วมรับฟังอยู่ด้วย

แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อ 2 วันต่อมา “นายอาสา สารสิน” ราชเลขาธิการ ได้ลงมาดูพื้นที่ “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากการพระราชดำริ”

ในส่วนของชาวบ้านไม่มีใครทราบ ถึงกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ “ราชเลขาธิการ” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 จึงไม่มีใครรู้ว่า “ราชเลขาธิการ” มาพูดคุยกับส่วนราชการในประเด็นไหน มีความคิดเห็นอย่างไร

ถึงกระนั้น การเดินทางมาของ “ราชเลขาธิการ” ย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อทิศทางข้างหน้าของ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

การประชุม “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ร่วมกับ “อนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระ ราชดำริ” ในวันที่ 27 เมษายน 2548 ต่อหน้าตัวแทนจาก คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงราบรื่นชนิดไม่มีผู้ใดคาดคิด

เป็นความราบรื่นภายใต้การถอยของ “นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์” ผู้เป็น “อธิบดีกรมชลประทาน” ที่ยอมให้ “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่มีตัวแทนชาวบ้านอยู่ด้วย เข้ามาบริหารจัดการน้ำ

ด้วยการยกอำนาจในการ “เปิด – ปิด” ประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ์” ซึ่งเป็นของอธิบดีกรมชลประทาน มอบให้กับคณะทำงานฯ ชุดนี้ ชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภายใต้แนวคิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในทุกขั้นตอน

ในที่สุด “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานฯ ชุดเล็ก โดยคัดเลือกจากคณะทำงานฯ ชุดใหญ่ จากภาคชาวบ้าน ภาคราชการ และนักวิชาการ รวม 21 คน ขึ้นมาบริหารจัดการ “เปิด – ปิด” ประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ์” โดยมี “น.ส.อรุณี พูลณรงค์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน

พร้อมกับเพิ่มตัวแทนชาวบ้านเข้ามาอีก 5 อำเภอ คือ อำเภอพระพรหม อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอลานสกา อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

ตามด้วยข้อเสนอให้ “คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนมาถึงปลายน้ำ ร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ของ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ประเด็นที่ต้องจับตามอง นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็คือ ภายใต้แนวคิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ใน “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ยังจะมีปัญหาอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหรือไม่

ด้วยเพราะ นี่คือ บทพิสูจน์ครั้งสำคัญยิ่งของทฤษฎี “กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน” ในบริบทของ “สังคมไทย”
-------------------------------------------------------------

2. ปากพนังได้ข้อสรุป15กันยาฯเปิดเขื่อน

แผนงานข่าวสืบสวนเชิงลึกนโยบายสาธารณะ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2548 ที่กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูลและกลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำ ในส่วนของภาคประชาชน ร่วมกับกรมชลประทาน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนและภาคราชการเข้าร่วมกว่า 20 คน

นายประยุทธ วรรณพรหม คณะทำงานฯ จากอ.พระพรหม เสนอต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของคณะทำงานฯ ภาคประชาชน ได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2548 มีข้อสรุปให้เปิดประตูระบายน้ำอุกทกวิภาชประสิทธิ์ เพื่อให้มีน้ำกร่อยในลุ่มน้ำปากพนัง โดยเปิดทุกช่อง ทุกบาน ทั้งบานบนและบานล่าง ในวันที่ 15 กันยายน 2548 เป็นต้นไป (รายละเอียดอ่านจาก สรุปผลการประชุมภาคประชาชนเปิดประตูน้ำอุทกวิภาชฯ)

นายทวีป ทองธวัช คณะทำงานฯ จากอ.เชียรใหญ่ กล่าวว่า สาเหตุที่ที่ต้องกำหนดเวลาห้ชัดเจน เนื่องจากการเปิดปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ มีผลกระทบกับประชาชนอาชีพต่างๆ จำนวนมาก แต่ละอาชีพจะได้เตรียมการรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ผู้เลี้ยงปลากระชังใต้ประตูระบายน้ำ ที่จะต้องหยุดปล่อยปลาลงกระชังในช่วงเปิดประตูระบายน้ำ

นายธงชัย ชูชาติพงศ์ จากกรมชลประทาน แย้งว่า การกำหนดระยะเวลาเปิดประตูระบาน้ำ ในวันที่ 15 กันยายน 2548 มาจากฐานข้อมูลปริมาณน้ำปี 2547 ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปี 2548 ตนเห็นว่า น่าจะขยับไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2548 หรือขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ไม่กำหนดเวลาตายตัว

นายเจริญ มหาราช คณะทำงานฯ จากอ.เชียรใหญ่ ชี้แจงว่า สาเหตุที่กำหนดเวลาให้ชัดเจน เพราะต้องการให้ประชาชนอาชีพต่างๆ ในลุ่มน้ำปากพนังได้มีเวลาเตรียมตัว ส่วนการเปิดประตูระบายน้ำจริงๆ นั้น ต้องขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ในระยะเวลาดังกล่าวด้วย เช่น ปริมาณน้ำ ถ้าไม่มากพอก็ไม่ต้องเปิด แต่ถ้าน้ำมาเร็วกว่าเวลาที่กำหนดก็ต้องเปิดก่อนเวลา แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่อกลุ่มอาชีพต่างๆ ถ้าเปิดแล้วกระทบต่ออาชีพใดอาชีพหนึ่งก็ไม่ควรเปิด

กรมชลฯ เสนอว่า การเปิดปิดประตูระบายน้ำ จะต้องคำนึงถึงแหล่งน้ำดิบสำหรับการทำน้ำประปาบริโภคในพื้นที่อำเภอปากพนัง กว่า 10,000 ครัวเรือนด้วย

ตัวแทนการประปาส่วนภูมิภาค อำเภอปากพนัง ชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงบึงน้ำกว่า 300 ไร่ สำหรับรองรับน้ำดิบ 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2549 สำหรับปริมาณน้ำดิบ 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตรดังกล่าว สามารถทำน้ำประปาแจกจ่ายชาวปากพนังได้ 3 – 4 เดือน

นายเจริญ ถ้าสามารถเก็บกักน้ำทำประปาได้ 3 – 4 เดือน การปิดเปิดประตูระบายน้ำ ตามที่กำหนดไว้ ไม้น่าจะมีผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา เพราะเฉพาะหน้าในปี 2548 นี้ ในช่วงฝนตกชุก ทางการประปาส่วนภูมิภาค สามารถดึงน้ำจืดไปกักเก็บเพิ่มเติมได้ ส่วนปีต่อไปให้การประปาส่วนภูมิภาคของบประมาณจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำจืดที่ เหมาะสมเพิ่มเติม

ตัวแทนจากการประปา ฯ เสนอว่า ถ้าต้องจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำดิบเพิ่มเติม ทางคณะทำงานฯ ควรผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดด้วย

ในที่สุด ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ ภาคประชาชน ให้เปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 เป็นต้นไป โดยจะนำผลการประชุมครั้งนี้ เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูลและกลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำชุดใหญ่ ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
-------------------------------------------------------

3. สรุปข้อหารือ ในการประชุมเครือข่ายภาคประชาชน

แผนงานข่าวสืบสวนเชิงลึกนโยบายสาธารณะ

สรุปข้อหารือ ในการประชุมเครือข่ายภาคประชาชน
วันพุธที่ 2 มิถุนายน 2548 เวลา 10.00-14.00
ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช


สืบเนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชนได้ติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำปาก พนัง ในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ณ ปัจจุบันมีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจของ ชุมชนในบริเวณในเขื่อนและนอกเขื่อนสามารถคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อปล่อยให้น้ำ มีการไหลเวียนดังเดิม ตามที่มีข้อมูลจากชุมชนต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และการศึกษาวิจัยจากสถาบันวิชาการต่างๆมาเป็นลำดับ

แม้ว่าข้อเท็จจริงต่างๆจะเป็นที่ชัดเจนปละมีการนำเสนอในการประชุมร่วมกับผู้ ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548 ข้อสังเกตว่าระบวนการแก้ไขปัญหายังไม่เป็นผลในทางปฏิบัติจึงจำเป็นต้องนำ เสนอข้อสรุปของภาคประชาชนอีกครั้งในวันที่ 6 มิถุนายน 2548 ซึ่งอาศัยแนวทางการเปิดประตูฯ ตามที่กรมชลประทานได้นำเสนอในที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา

ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำปากพนัง คือการเปิดประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ การบริหารปะตูย่อยต่างๆ ให้สอดคล้องกับการใช้น้ำ การประชาสัมพันธ์ และการดำเนินงานของคณะกรรมการในการเฝ้าระวัง ติดตามผลกระทบ ดังนี้

1.ประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ ต้องเปิดเพื่อให้มีน้ำกร่อยในระบบลุ่มน้ำ เนื่องจากเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญต่อฐานอาชีพขิงคนปากพนัง ทั้งกลุ่มนาข้าว ประมง ตาลจาก และป่าพรุ ฯลฯ

ดังนั้น ควรเปิดประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ โดยเปิดทุกช่องและทั้งบานบนบานล่าง ตามแนวทางที่กรมชลประทานเสนอ คือวันที่ 15 กันยายน 2548 ซึ่งจะส่งผลให้ความเค็มของน้ำที่บริเวณปากแพรก และบริเวณคลองชะอวดเพิ่มขึ้นเป็น 3 และต่ำกว่า 1 ตมลำดับ ในอีก 45 วันหลังจากเปิดประตูแล้ว ซึ่งถือว่าไม่น่าจะกระทบกับผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร

นอกจากความเค็มแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาในการควบคุมการเปิดปิด คือระดับ ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (ดีโอ) ในแม่น้ำปากพนังและคลองสาขามีค่าไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร เพราะถ้า ดีโอ อยู่ระหว่าง 3 – 5 สัตว์น้ำจะเครียด และถ้า ดีโอ ต่ำกว่า 3 สัตว์จะหนี ทำให้ชาวบ้านไม่มีสัตว์น้ำบริโภค

2.ประตูระบายน้ำต่างๆต้องบริหารให้สอดคล้องกับการเปิดของประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ ดังนี้
1) ควรปิดประตูหน้าโกฐ ประตูแพรกเมือง ประตูคลองลัด ประตูฉุกเฉิน
2) ควรเปิดประตูเสือหิง ประตูระบายน้ำเชียรใหญ่ และประตูบางไทร

3.การประชาสัมพันธ์โดยจังหวัดเพื่อให้ชุมชนต่างๆได้รับทราบก่อนเปิดประตู
ควรประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงก่อนเปิดประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ เพื่อให้ทุกชุมชนได้เตรียมการเรื่องน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังนอกเขื่อน เนื่องจากคุณภาพน้ำในกระชังนอกเขื่อนในช่วง 10 – 20 วันของการเปิดประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ จะไม่เหมาะกับการนำไปใช้และการเพาะเลี้ยง

4.การเฝ้าระวัง และติดตามผลกระทบ

1) เกณฑ์การเฝ้าระวัง คือ บริเวณปากแพรก กำหนดความเค็มโดยวัดจากผิวน้ำลึกลงไป 1 เมตร ให้ไม่เกิน 3 PPT หากเกินจนก่อให้เกิดความเสียหายจะพิจารณาในเรื่องการปิดประตูอุทกวิภาช ประสิทธิ์

2) เก็บข้อมูลออกซิเจนละลายน้ำ (ดีโอ) ของน้ำตามสถานีต่างๆ ที่สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทำไว้ คือ ในเขตน้ำจืด 12 สถานี และในเขตน้ำเค็มคลองหัวไทร 3 สถานี และติดตามผลกระทบการใช้น้ำของคลองซอยต่างๆ ในรูปแบบของการมีส่วนร่วมโดยคณะกรรมการคลองต่างๆ

3) การเปิดปิดประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ ให้คำนึงถึงวงจรชีวิตของสัตว์น้ำต่างๆโดยเฉพาะกุ้งก้ามกราม ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ กุ้งก้ามกรามจะเดินทางจากต้นน้ำไปวางไข่ในอ่าวปากพนังประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม และอาศัยกระแสน้ำไปเจริญเติมโตที่ชะอวดประมาณเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์

4) ติดตามผลกระทบคลองหัวไทรที่ทะเลปัง และหน้าวัดศาลาแก้ว

5) ติดตามระดับน้ำและการคืนความสมบูรณ์ของพรุควนเคร็ง

หมายเหตุ
คณะกรรมการตัวแทน 3 ฝ่าย รวม 21 คน เป็นผลจากมติที่ประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อมูลบริหารจัดการน้ำ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548 ณ ห้องประชุมศรีวิชัย ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวิชม ทองสง เป็นประธาน คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำฯ คณะกรรมการสิทธิ์ฯ เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ ดำเนินการได้คล่องตัวขึ้นกว่าคณะกรรมการชุดแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2548 ที่มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 64 คน
----------------------------------------------------------

4. หวั่นผลกระทบเปิดเขื่อนปากพนังส่อเค้ายื้อ

แผนงานข่าวสืบสวนเชิงลึกนโยบายสาธารณะ

น.ส.อรุณี พูลณรงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาข้อมูลและกลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำโครงการ พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เปิดเผยว่า วันที่ 17 มิถุนายน 2548 นี้ คณะทำงานฯ จะร่วมประชุมพิจารณาผลดี – ผลเสียของการเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ตลอดจนผลกระทบต่อพื้นที่และชุมชน ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรมราช

น.ส.อรุณี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ตนต้องการให้คณะทำงานฯ มองลึกลงไปในรายละเอียดต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาแบบไม่คาดคิด เพราะไม่มีใครต้องการให้ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ในพื้นที่รอบโครงการฯ ได้รับผลกระทบภายหลัง โดยใช้ปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 4 – 5 ปี มาเป็นตุ๊กตาในการพิจารณาประกอบการเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกัน

น.ส.อรุณี เปิดเผยว่า หลังจากได้ข้อสรุปจากการประชุมคณะทำงานฯ แล้ว จะนำข้อเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนา พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีนายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน โดยจะเชิญนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมพิจารณาด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2548 คณะทำงานศึกษาข้อมูลและกลั่นกรองการบริหารจักการน้ำ ในส่วนของภาคประชาชน ได้ร่วมกันพิจารณาช่วงเวลาเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ข้อสรุปว่า จะเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ในวันที่ 15 กันยายน 2548 เป็นต้นไป
------------------------------------

5. ชาวปากพนังเฮ เปิดเขื่อน 15กันยานี้

แผนงานข่าวสืบสวนเชิงลึกนโยบายสาธารณะ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูล และกลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพิจารณาผลดี ผลเสีย ของการเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ในวันที่ 15 กันยายน 2548 เป็นต้นไป ตลอดจนผลกระทบต่อพื้นที่ และชุมชนโดยมีตัวแทนภาคประชาชน และภาคราชการเข้าร่วมกว่า ร่วมกว่า 40 คน ก่อนมีการขอมติเห็นชอบจากที่ประชุม

น.ส.อรุณี พูลณรงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาข้อมูล และกลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นประธานในที่ประชุม ร่วมหาข้อสรุปจากการประชุมคณะทำงานฯ ซึ่งบรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปด้วยดี โดยก่อนที่จะเปิดการประชุม น.ส.อรุณี ได้บอกกับทุกคนในที่ประชุมว่า “คืนนี้ทุกคนจะกลับไปนอนหลับฝันดี” ก่อนที่จะมีการสรุปการประชุมที่ผ่านมาให้ที่ประชุมทราบ

หลังจากนั้นได้มีการข้อมติจากที่ประชุมว่า ใครเห็นควรให้เปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ในวันที่ 15 กันยายน 2548 เป็นต้นไป ซึ่งมติในที่ประชุมออกมาอย่างเป็นเอกฉันท์เห็นควรให้เปิดประตูระบายน้ำอุทก วิภาชประสิทธิ์ ตามข้อเสนอของคณะทำงานศึกษาข้อมูลและกลั่นกรองการบริหารจักการน้ำ

นอกจากนั้นยังเสนอเพิ่มเติม ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำฯ ทำงานร่วมภาคประชาชนและข้าราชการ เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง เก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาที่มีการเปิดประตูฯ ว่ามีผลกระทบ หรือผลดีในด้านใดบ้าง โดยถือเป็นการบริหารจัดการร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งประชาชน และข้าราชการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนเน้นการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบ เพื่อเตรียมตัวก่อนการเปิดประตูฯ

หลังจากได้ข้อสรุปจากการประชุมคณะทำงานฯ แล้ว จะนำมติที่ได้ในวันนี้เข้าเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการ พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีนายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน โดยจะเชิญนาย สามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมด้วย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 เวลา 13.30น.
-------------------------------------

6. 29มิ.ย.ชี้ขาดเปิดเขื่อนปากพนัง


แผนงานข่าวสืบสวนเชิงลึกนโยบายสาธารณะ

นายสวาท เอียดตน คณะทำงานศึกษาข้อมูลและกลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตามที่กำหนดจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ ปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีนายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 เพื่อพิจารณากำหนดวันเปิดประตระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ตามที่คณะทำงานศึกษาข้อมูลฯ เสนอให้เปิดในวันที่ 15 กันยายน 2548 นั้น ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ขอเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2548 เนื่องจากประสานการประชุมกับคณะอนุกรรมการฯ ไม่ทัน

นายสวาท เปิดต่อไปว่า ก่อนการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในส่วนของคณะทำงานฯ จากภาคประชาชน จะมีการนัดพูดคุยเตรียมการรายละเอียดเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสายน้ำย่อยในลุ่ม น้ำ ภายหลังจากเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ รวมทั้งเรื่องงบประมาณดำเนินการ และระบบการบริหารจัดการทั้งหมด เพื่อนำเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ ใช้ประกอบในการพิจารณาเปิดประตูระบายน้ำพร้อมกันไปทีเดียว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูลฯ เพื่อพิจารณาเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ มีน.ส.อรุณี พูลณรงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรี ธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาข้อมูลฯ เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 เป็นต้นไป ตามข้อเสนอของคณะทำงานศึกษาข้อมูลฯ จากภาคประชาชน

จากนั้น ที่ประชุมได้กำหนดให้นำมติดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน โดยจะเชิญนาย สามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมด้วย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 แต่มีการแจ้งเลื่อนการประชุมไปเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ดังกล่าว
-------------------------------

7. ตั้งชุดตรวจงานเปิดเขื่อนปากพนังไร้เงานักวิชาการภาคปชช.

แผนงานข่าวสืบสวนเชิงลึกนโยบายสาธารณะ

รายงานข่าวจากจังหวัดนครศรีธรรมราชแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2548 นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีหนังสือเชิญคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมในเวลา 13.30 น. วันที่ 27 มิถุนายน 2548 ที่ห้องประชุมศรีวิชัย ศาลากลางจังหวัดนครศรี ธรรมราช

ทั้งนี้เพื่อรับทราบมติที่ประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูลและกลั่นกรองการบริหาร จัดการน้ำ โครง การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ที่ให้เปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ในวันที่ 15 กันย

23 ต.ค. 2553

ปากพนังวันนี้น้ำท่วมบ่อยและไม่อุดมสมบูรณ์ในด้านสัตว์น้ำทำให้คนจำนวนมากต้องเสียรายได้เป็นอย่างมาก

แหล่งวางไข่ของปลาเหล่านี้ได้หายไป

ปลาเหล่านี้เป็นปลาเศรษฐกิจของชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง แต่ตอนนี้ได้ขาดตลาดหาได้น้อยลงชาวประมงจำนวนมากอยู่อย่างยากลำบากมากขึ่นเพราะแหล่งวางไข่ของปลาเหล่านี้ได้หายไป







ลุ่มน้ำปากพนังวันนี้น้ำท่วมบ่อยมาก ก่อนจะมีประตูระบายน้ำ เมื่อก่อนลุ่มน้ำปากพนัง น้ำท่วมปีละ1ครั้ง พอมี น้ำท่วม ก็มีความอุดมสมบูรณ์ ในด้านสัตว์น้ำตามมา เยอะแยะมากมาย ซึ่งประชาชนก็ยอมรับได้ในการที่ให้น้ำท่วมปีละ1ครั้ง น้ำท่วมทำให้ประชาชนลำบากก็จริง แต่เป็นช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน15วัน และสิ่งที่มากับน้ำท่วมก็มี กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งประชาชนก็เปลี่ยนวิกฤษ ให้เป็นโอกาศ จับปูจับปลา มากินมาขาย ก็อยู่ได้ตามฤดูการ แต่พอมีประตูระบายน้ำ น้ำกลับท่วมมากขึ่นท่วมปีละหลายครั้ง ปลาก็ลดน้อยลงแทบจะหาไม่ได้ พอหน้าแล้งก็แล้งเอามากมาย แล้งจนน้ำในคลองย่อยที่แยกออกจากสาขา ลุ่มน้ำปากพนัง แห้งขอด จนเดินข้ามคลองย่อยได้ สร้างความเดือนร้อนให้คนเป็นจำนวนมาก สัตว์น้ำก็น้อยลงไป ทุกที ๆ สร้างความเดือดร้อนให้คนที่อยู่สองฝั้งลุ่มน้ำปากพนัง เป็นจำนวนมาก สัตว์น้ำลดลงเพราะวงจรชีวิตเปลี่ยนไป ชาวประมงพื้นเมือง สองฝั่งลุ่มน้ำหลายพันครัวเรือน หมดอาชีพเพราะหาสัตว์น้ำไม่ได้

20 ต.ค. 2553

ปากพนังทำนาปีละครั้งเพียงพอต่อการดำรงณ์ชีพแต่ทำหลายครั้งตอนนี้ไม่เพียงพอแล้ว

ก่อนที่จะมีประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ปากพนังทำนาปีละครั้งเพียงพอต่อการดำรงณ์ชีพ หลั้งจากสร้างประตูระบายน้ำ ประชาชนต้องถูกบังคับให้ ปลูกข้าวทั้งปี หรือปลูกผัก ทำสวน ทำเกษตรต่าง ๆ แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นก็มีมากมาย เพราะชาวลุ่มน้ำปากพนังนั้น ทำอาชีพประมงในลุ่มน้ำ แล้วก็ปลูกข้าวปีละ1ครั้งตามฤดูการ ข้าวก็เก็บเกี่ยวได้ทันก่อนที่น้ำจะเค็มลุกเข้าไปมากในฤดูแล้ง  แต่ตอนนี้ประตูระบายน้ำได้บังคับไห้ประชาชนต้องทำนาทำไรทำสวน กันทุกครัวเรือน เพราะอาชีพประมง ทำได้ยากแทบจะทำไม่ได้เลย ประชาชนก็ต้องทำนาทำสวนเป็นหลัก การทำนาทำสวนเป็นหลักนั้น ก็ต้องแข่งขันกับปากท้องที่ต้องกินต้องใช้ ในครอบครัวเพราะต้องไห้พอกินทั้งปี และมีเงินให้ลูกได้เรียน เลยต้องซื้อปุ๋ย ซื้อสารเคมีต่าง ๆ เพราะสัตรูพืชก็ตามมากมากมาย  ปูปลาก็ต้องซื้อมาทำอาหาร เพราะหาจากในลุ่มน้ำไม่ได้ ชาวนาชาวไร่ ลงทุนมากแต่ได้ผลไม่ค่อยจะพอต่อการเลี้ยงชีพซักเท่าไหร่ แล้วคนที่มีที่ดินน้อยก็ไม่ต้องพูดถึงเลยเพราะว่า ต้องเป็นกรรมกรณ์ เดือดร้อนหนักเข้าไปใหญ่ ก่อนที่จะมีประตูระบายน้ำ อาชืพก็ไม่แตกต่างจากเดิมมาก ก่อนมีประตูระบายน้ำ ประชาชนก็ปลูกข้าว ปลูกผักไว้กินเอง และมีลุ่มน้ำเค็มไว้จับปูจับปลา หมดหน้านา ก็จับปลา ถึงหน้านาก็ทำนา ปลาในลุ่มน้ำเค็มก็มีแต่ปลา ราคาค่อนข้างดี ชาวบ้าน2ฝั่งคลองก็มีรายได้ดี ทำให้ก่อนมีประตูระบายน้ำ ประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุข พออยู่พอกิน ไม่เป็นหนี้ เป็นนายตัวเอง มีเงินเก็บ แต่พอประตูระบายน้ำสร้างเสร็จ การทำประมงในลุ่มน้ำ และ2ฝั่งคลองได้หายไป น้ำไม่เหมาะต่อการเลี้ยงปลาในกระชัง น้ำเน่าบ่อย ๆ น้ำยาจากสารเคมีก็ลงมาบ่อย ๆ ตอนฝนตก เลยทำให้ ประชาชนส่วนใหญ่ เดือดร้อนเป็นหนี้ มากมาย ประตูระบายน้ำได้ปิดกันน้ำอย่างถาวรในปี2542 เห็นได้ชัดว่าประชาชนเดือนร้อนมาก จนมาถึงปี2548 ความเดือนร้อนก็มากขึ่น จนมีการประชุมกันว่าจะต้องเปิดให้น้ำได้ไหลขึ่นไหลลง เหมือนเดิมซึ่งหน่วยงานก็เห็นตรงกันว่าให้เปิดประตูไห้น้ำได้ไหลขึ่นลงตามธรรมชาติ คืนความอุดมสมบูนณ์ให้คนลุ่มน้ำ แต่ไม่ทราบว่าทำไม... ? จนถึงทุกวันนี้ยังไม่เปิดให้ประชาชนอีกเพราะอะไร นี่มัน2553แล้ว แล้วตอนนี้ก็เดือดร้อนหนักเข้าไปทุกที ๆ =ชาวบ้านที่อยู่ฝั่งน้ำเค็มก็เดือดร้อนไม่แพ้กันเพราะหา กุ้งหอยปูปลา ได้น้อย เพราะแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำนั้นอยู่ที่ในลุ่มน้ำที่โดนปิดกั้น  จากประตูระบายน้ำ สร้างประตูมาแล้วหลายปีประชาชนเดือดร้อน ก็ควรจะเปิดให้น้ำได้ไหลขึ่นลงเหมือนเดิม อย่าให้ประชาชนต้องเดือดร้อนไปมากกว่านี้

15 ต.ค. 2553

ปากพนัง2553ประชาชนไม่ได้ผลประโยช อย่างที่กลมชลประทานโฆษณา ระบบนิเวศน์เดิม เปลี่ยนไปชาวบ้านเป็น หนี้ ธกส มากขึ้นทันตาเห็น

ลุ่มน้ำปากพนัง
ระบบนิเวศน์เดิม
แม่น้ำปากพนัง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด เขตตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัด ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำ และชายฝั่งทะเล พื้นที่ป่าไม้ประกอบด้วย ป่าบก ป่าพรุ ป่าชายเลน และป่าจาก เป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์-อนุบาลสัตว์น้ำ ประชาชนประกอบอาชีพต่างๆ เช่น ทำนา ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ ทำประมง โดยการทำนาจะมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สามารถเก็บเกี่ยวในระยะทันในเวลาที่น้ำทะเลขึ้น
สภาพปัญหา กรมชลประทานได้สร้างประตูระบายน้ำหลัก "ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์" ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กั้นแม่น้ำปากพนัง โดยปิดประตูน้ำถาวรในวันที่ 1 ตุลาคม 2542 เพื่อกั้นน้ำเค็มจากอ่าวปากพนังไม่ให้ไหลเข้าและเก็บกักน้ำจืดมิให้ไหลออก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่หลายร้อยไร่ ส่งผลกระทบดังนี้
1. ทำนาไม่ได้เพราะน้ำท่วมขัง
2. สัตว์น้ำลดลงเพราะวงจรชีวิตเปลี่ยนไป ชาวประมงพื้นเมือง 5,000 ครัวเรือนหมดอาชีพเพราะหาสัตว์น้ำไม่ได้
3. ต้นจากป่าจาก เสียหายล้มตายเพราะต้นต้องการน้ำไหลเวียนทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย
4. การแบ่งเขตน้ำเค็มและน้ำจืดไม่สอดคล้องกับการใช้ที่ดินของชุมชน และการทำนากุ้งของเกษตรกร
5. เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลปากพนัง
6. ระบบนิเวศน์เสียจากการขุดลอกคลองและทำลายป่า เกิดน้ำเน่าเสีย
ข้อเสนอ
ให้ทดลองเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และศึกษาผลกระทบจากการปิดและเปิดเขื่อนในระยะ 3 ปี โดยคณะศึกษาประกอบด้วยนักวิชาการและชุมชนในลุ่มน้ำปากพนัง
จะเห็นว่าทั้งสามลุ่มน้ำต่างก็เป็นรอยต่อระหว่างระบบนิเวศน์น้ำจืด และระบบนิเวศน์น้ำเค็ม ทำให้เกิดระบบนิเวศน์น้ำกร่อย อันเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และมีความอ่อนไหวตามอิทธิพลกระแสน้ำขึ้นน้ำลงและลมธรรมชาติตามฤดูกาล ซึ่งประชาชนแต่ละลุ่มน้ำต่างก็มีวิถีชีวิตและประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติด้วยดี แต่โครงการของรัฐที่เกิดขึ้นไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนอย่างมาก จึงควรที่รัฐจะหันมาปรับปรุงโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาชาวบ้านและระบบนิเวศน์ดั้งเดิมให้มากที่สุด

28 ก.ย. 2553

ลุ่มน้ำปากพนังระทมน้ำท่วมขังนานนับเดือน - เหตุปิดตายประตูเขื่อน

หลายที่ ที่นาน ๆ น้ำจะท้วมสักครั้งแต่เดี๋ยวนี้ท่วมปีละ2ครั้ง ครั้งละเป็นเดือน ๆ


เด็กสนุกแต่ผู้ใหญ่ระทม
 นครศรีธรรมราช - พื้นที่โดยรอบลุ่มแม่น้ำปากพนังนครศรีฯ 6 อำเภอ ระทมหลังน้ำท่วมขังนานนับเดือน น้ำเริ่มเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น เหตุน้ำไม่สามารถระบายออกทะเลได้ วอนเปิดประตูเขื่อนลุ่มแม่น้ำปากพนัง วันนี้ หลังจากสถานการณ์ฝนตกในระลอกที่ 3 ส่งผลให้พื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมเดิม หลาย อำเภอ ระดับน้ำที่ลดลงเกือบเป็นปกติเพิ่มสงขึ้นอีกครั้งและไหลบ่าท่วมพื้นที่การเกษตร ถนนหนทาง และบ้านเรือนของชาวบ้านที่ปลูกในที่ลุ่ม ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 6 อำเภอที่ถูกน้ำท่วมหนักนานนับเดือนประกอบด้วย อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ชะอวด อ.เมืองบางส่วน ระดับน้ำในพื้นที่ยังสูงกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะในอำเภอปากพนัง น้ำที่ท่วมขังทุ่งนาและบริเวณป่าพรุต่างๆได้เริ่มน้ำเน่าเสีย จากซากพืชที่จมน้ำเป็นเวลานานจนตายและเน่า จนน้ำมีสีคล้ำชาวบ้านไม่กล้าเดินลุยน้ำ เพราะกลัวเชื้อโรคร้ายที่มากับน้ำ ซึ่งมีชาวบ้านป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้าจำนวนมาก
      
       นายวิโรจน์ ธีระกุล อายุ 70 ปี มีบ้านอยู่ข้างวัดบางไทร ต.บางศาลา อ.ปากพนัง กล่าวว่า ในขณะนี้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหน่วยราชการยุติไปหมดแล้ว แต่ชาวบ้านในลุ่มน้ำปากพนังกลับได้รับความเดือดร้อนหนักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำท่วมขังนานนับเดือนแล้ว น้ำก็เน่าส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง เพราะไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ สัตว์เลี้ยงก็อยู่บนถนนและขาดอาหารผอมโซ ชาวบ้านก็ไม่สามารถลงจากบ้านไปประกอบอาชีพได้ เป็นความเดือดร้อนหนักกว่าช่วงแรกๆ ที่ถูกน้ำท่วมเสียอีก
      
       “ตามวัดต่างๆ พระภิกษุ สามเณร ก็เดือดร้อนเพราะเมื่อชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพได้ พระภิกษุออกบิณฑบาตไม่ได้ไม่มีอาหารฉันท์ ทั้งชาวบ้านและพระภิกษุต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ สงสารพระอาจารย์ไพศาลวิริยกิจ หรือพระอาจารย์เนียม วัดบางไทร พระเกจิชื่อดังเมืองนครศรีธรรมราช ที่ในแต่ละวันนั่งจับเจ่าอยู่บนกุฏิ ชาวบ้านต้องพยายามที่จะหาอาหารมาถวายให้พระอาจารย์เนียม และพระเณรในวัดได้ฉันพอประทังความหิวไปวันๆ เป็นสถานการณ์ที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งยังมีพระภิกษุ สามเณรอีกหลายวัดรวมทั้งชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่ต้องทนทุกข์อยู่ในสภาพเดียวกัน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลจนกว่าน้ำจะลดเป็นปกติ” นายวิโรจน์กล่าว
      
       สำหรับสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นเวลานาน เนื่องจากน้ำไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังได้ปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ตลอดเวลา เนื่องจากระดับน้ำทะเลได้หนุนเป็นระยะอย่างต่อเนื่องทำให้การระบายน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างล้าช้า และไม่จริงจังในการดูแลชาวบ้าน

24 ก.ย. 2553

แหล่งวางไข่ของปลาที่อยู่ได้สองน้ำได้หายไปจากลุ่มน้ำปากพนัง



ก่อนที่จะมีประตูระบายน้ำ อุทกวิภาชประสิทธิ์ ลุ่มน้ำปากพนังแห่งนี้เป็นแหล่ง อนุบาลลูกปลาได้เป็นอย่างดี เพราะปลาที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นปลาสองน้ำ ปลาทะเล ปลาบางชนิดต้องไปวางไข่ที่ตอนบนของลุ่มน้ำปากพนัง ชื่งมีน้ำจืดไหลลงมาจากตอนบน มาเจอกับน้ำเค็มที่ไหลขึ่นไปจากตอนล่าง เลยทำให้ลุ่มน้ำปากพนังกลายเป็นน้ำกร่อยหลายกิโลเมตร  ตรงบริเวณนี้ ที่เป็นน้ำกร่อย จะเป็นที่วางไข่ของปลา นานับชนิด วางไข่แล้วแม่ปลาก็กลับลงทะเล หรือไม่ก็ลงมาอาศัยอยู่ที่ลุ่มน้ำปากพนังตอนล่าง ทำให้ประชาชนคนหาปลาได้มีปลากิน และนำมาขายหาเลี้ยงครอบครัวได้ ตามแต่ละฤดูกาล ลูกปลาที่ฟักเป็นตัว บริเวณน้ำกร่อย ก็เจริญเติบโตได้ดีเพราะว่า ลูกปลาจะมี ตะไคร้น้ำ และตะไคร้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งหากินของลูกปลามากมาย ในลุ่มน้ำแห่งนี้ พอลูกปลาเริ่มโต ลูกปลาบ้างก็ขึ่นไปตอนบน บ้างก็ลงมาตอนล่าง ทำให้คนสองฝั่งลุ่มน้ำ ได้จับปลาเหล่านี้ มากินมาขาย มาดำลงชีพอยู่อย่างพอเพียง  อยู่ดีกินดีเป็นนายของตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้ปลาเหล่านี้ได้หายไป เพราะประตูระบายน้ำได้ปิดกัน แหล่งวางไข่ที่อุดมสมบูรณ์ ของปลาที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำปากพนัง ทำให้อาชีพ ประมงพื้นบ้าน ประมงเรือพาย  หรือ การทำยอยกปลา การทอดแห การใช้ตาข่าย ได้หายไป หรือจับปลาได้น้อยไม่พอต่อการเลียงครอบครัว แล้วความไม่เพียงพอก็ตามมา ทำให้คนลุ่มน้ำปากพนัง ต้องออกไปทำงานเป็นกรรมกรใช้แรงงาน ได้เงินมาก็ต้องไปซื้อปลาจากตลาด มากิน ทำให้เงินที่ได้มาจากการทำงาน ไม่เพียงพอต่อการดำลงชีพภาระก็มาก ลูกก็ต้องเรียน เมื้อก่อนเคยอยู่กันอย่างมีความสุข แต่มีประตูระบายน้ำเข้ามา ประชาชนส่วนใหญ่กลับเป็นทุก เพราะอู่ข้าวอู่น้ำถูกปิดตาย น้ำหยุดนิ่ง น้ำท้วมขังซ้ำซากเน่าเหม็นวัชพืชเยอะ ความเสร้า ความเงียบเหงา ต้องเข้ามาเยือนคนลุ่มน้ำ เพราะคนหนุ่มสาวไม่มีแหล่งทำกิน ต้องไปทำงานไกลบ้าน ทางรอดของคนลุ่มน้ำปากพนังก็คือ ต้องเปิดประตูให้สายน้ำได้ไหลขึ่น ไหลลง คืนชีวิตให้คนลุ่มน้ำปากพนังอีกครั้ง ปล. จากคนลุ่มน้ำปากพนัง

23 ก.ย. 2553

ความเดือดร้อนของคนจำนวนมากไม่เคยเอามาออกเลย เอามาออกแต่บางคนที่ได้ประโยชน์ชึ่งเป็นคนส่วนน้อย

ความสวยงามของประตูระบายน้ำทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานไกลบ้านเพราะความอุดมสมบูรณ์ได้หายไปเพราะประตูระบายน้ำแห่งนี้ ผมได้เห็นถึงความเดือดร้อนของคนลุ่มน้ำมากมาย แต่ก็ทำอ่ะไรไม่ได้เลย ประชาชนต้องหมดแรงอย่างช้า ๆ แต่ กลมชลประทานยังออกข่าว ด้านบวกอยู่ อย่างต่อเนื่อง สร้างความอัดอั้นตันใจ อย่างรุนแรงไห้คนลุ่มน้ำปากพนัง
  • ความเดือดร้อนของคนจำนวนมาก ไม่เคยเอามาออกเลย เอามาออกแต่บางคนที่ได้ประโยชน์ชึ่งเป็นคนส่วนน้อย แล้วประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อน ไปอยู่ใหน หรือคนจำนวนมากที่ไม่ต้องการประตูระบายน้ำแห่งนี้ เขาไม่มีค่าในสายตาของใครบางคน ประชาชนรอวันที่จะประท้วง เพื่อให้เปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้มี2 น้ำเหมือนก่อน คือ น้ำเค็มน้ำจืด เพื่อที่จะให้ปลาน้ำกร่อยได้กลับมา เป็นเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนปากพนังต่อไป